Amazon Electronics

Wednesday, May 30, 2012

Digital Video Broadcasting (DVB) คืออะไร

ตามที่กสทช. ได้ประกาศใช้ระบบของยุโรป หรือ DVB-T2 เป็นมาตรฐานระบบโทรทัศน์ดิจิตอลภาคพื้นดินของประเทศไทย (Digital Terrestrial Television : DTTV) หลายคนคงสงสัยแล้ว DVB มันคืออะไร


ภาพจากอินเตอร์เน็ต


Digital Video Broadcasting (DVB) เป็นมาตรฐานกลางของโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (digital television) ที่ปรับปรุงและแก้ไขโดย DVB Project ซึ่งเป็นการร่วมมือกันของกลุ่มธุรกิจที่มีสมาชิกมากกว่า 270 ราย โดยมาตรฐานของ DVB นั้น ออกโดย Joint Technical Committee (JTC) ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่เกิดจากการรวมตัวกันของ European Telecommunications Standards Institute (ETSI), European Committee for Electrotechnical Standardization (CENELEC) และ European Broadcasting Union (EBU)


DVB ทำงานอย่างไร
DVB สามารถส่งข้อมูลผ่านได้ทั้งสัญญาณดาวเทียม (DVB-S หรือ DVB-S2) ทางสายเคเบิล (DVB-C) หรือผ่านการกระจายสัญญาณจากเสาสัญญาเหมือนโทรทัศน์ทั่วไป (Terrestrial) (DVB-T) หรือระบบสัญญาณเพื่อโทรทัศน์แบบพกพา (DVB-H) โดยการส่งข้อมูลนั้น DVB ได้ระบุรูปแบบในการส่งข้อมูลใน physical layer และ datalink layer ไว้ โดยอุปกรณ์รับสัญญาณจะติดต่อกับ physical layer ผ่านทาง Synchronous Parallel Interface (SPI), Synchronous Serial Interface (SSI), หรือ Asynchronous Serial Interface (ASI) ในการส่งข้อมูลนั้นข้อมูลทั้งหมดจะส่งในรูปของ MPEG-2 Transport stream โดยที่จะมีข้อจำกัดบางอย่างที่ต้องเพิ่มเติมเข้าไป (DVB-MPEG) ส่วนมาตรฐานของการบีบอัดข้อมูลสำหรับอุปกรณ์พกพานั้นกำลังอยู่ในการพัฒนา


การแปลงสัญญาณของแต่ละอุปกรณ์นั้นจะต่างกัน โดยจะขึ้นอยู่กับข้อจำกัดทางด้านเทคนิคดังที่กล่าวไว้ข้างล่างนี้
  • DVB-S (SHF) ใช้ QPSK
  • DVB-S2 ใช้ QPSK, 8PSK, 16APSK or 32APSK โดยจะขึ้นอยู่กับ ผู้ให้บริการ โดยทั่วไปแล้วจะใช้ QPSK และ 8PSK
  • DVB-C (VHF/UHF) ใช้ QAM: 64-QAM or 256-QAM
  • DVB-T (VHF/UHF) ใช้16-QAM หรือ 64-QAM (หรือ QPSK) ร่วมกับ COFDM
สัญญาณข้อมูล (data channel)
นอกจากสัญญาณภาพและเสียงแล้ว DVB ยังกำหนดวีธีการติดต่อขอรับข้อมูล (DVB-DATA - EN 301 192) โดยมีวิธีการส่งข้อมูลกลับ สำหรับ สื่อรูปแบบต่าง ๆ (DECT, GSM, PSTN/ISDN, satellite etc.) รวมทั้งผ่าน protocol ต่าง ๆ (DVB-IPI: Internet Protocol; DVB-NPI: network protocol independent). นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการทำงานกับเทคโนโลยีเก่า ๆ เช่น teletext (DVB-TXT) และ vertical blanking interval data (DVB-VBI) แต่อย่างไรก็ตาม DVB ก็สนับสนุนเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น DVB-SUB สำหรับการแสดงคำบรรยาย ด้วยเหมือนกัน


การเข้ารหัสข้อมูล และข้อมูลพื้นฐานของสัญญาณ
ในระบบ Conditionnal Access (DVB-CA) จะมีการกำหนดอัลกอริทึมเพื่อการเข้ารหัสข้อมูลพื้นฐาน Common Scrambling Algorithm (DVB-CSA) และ Common Interface (DVB-CI) เพื่อสำหรับใช้ในการประมวลผลข้อมูลที่ได้ถูกเข้ารหัส (scrambled content) โดยผู้ให้บริการ DVB นั้นจะต้องพัฒนาระบบ Conditional Access นี้ภายใต้ข้อจำกัดตามที่ทาง DVB กำหนดมา ในข้อมูลที่ส่งมาจากทางผู้ให้บริการนั้น จะประกอบไปด้วยข้อมูลพื้นฐาน (Metadata) ที่เรียกว่า Service Information (DVB-SI) ที่จะเป็นตัวบอกรายละเอียดเบื้องต้นให้กับโปรแกรมที่เหมาะสมกับข้อมูลที่ส่งมา ข้อมูลใน SI นี้เองที่บอกถึงความสัมพันธ์ของข้อมูลต่าง ๆ ที่อยู่ใน MPEG Stream เพื่อนำข้อมูลไปใช้สร้างเนื้อหาที่มนุษย์สามารถเข้าใจได้อีกด้วย เช่น Electronic program guide (EPG)
ซึ่งในขณะนี้ DVB กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาเรื่องการป้องกันการละเมิดลิขสิทธ์โดยการหาทางป้องกันไม่ให้ ข้อมูลหรือสื่อที่ผู้ใช้ได้ทำการอัดลงใน Set-top box ไม่ให้สามารถนำไปเผยแพร่บน internet ได้ แต่สามารถที่จะให้ใช้ในบ้านหรือใน เครือข่ายที่เป็นส่วนตัวได้เท่านั้น ซึ่งเรียกระบบนี้ว่า DVB-CPCM


Software Platform
DVB Multimedia Home Platform (DVB-MHP) นั้นเป็นแพลทฟอร์มสำหรับการพัฒนาโปรแกรมประยุกต์บนระบบโทรทัศน์ดิจิตอล ที่มีพื้นฐานอยู่บนเทคโนโลยีจาวา โดย MHP ได้มีการเขียนวิธีการและแนวคิดในการพัฒนาของ DVB และ MPEG-2 ไว้ด้วยนอกจากนั้นยังมี interface สำหรับในการพัฒนาส่วนต่าง ๆ ของ Set-top box เช่นการจัดการกับเรื่องการเชื่อมต่อเข้าเครือข่าย การดาวน์โหลดโปรแกรมประยุกต์ หรือว่าเรื่อง การจัดการกราฟิคที่จะมาแทรกกับวิดีโอก็มีเตรียมไว้ให้ด้วย
OpenTV เป็นเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาระบบโทรทัศน์ดิจิทัลอีกเจ้าหนึ่ง ที่มีประสบการณ์ทำงานมามากกว่าสิบปี (ในขณะที่ MHP เกิดมาไม่ถึงสามปี) โดยพัฒนาโปรแกรมต่าง ๆ ด้วยภาษาซี และมีความสามารถในการรันเทคโนโลยีประเภท Flash และ HTML ได้ด้วย และความสามารถอีกอย่างของ OpenTV คือการปรับรุ่นของ Set-top box ที่ใช้ OpenTV จากเดิมที่เป็นภาษาซี มาเป็นเทคโนโลยี MHP ด้วยภาษาจาวา


แหล่งที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี



Digital TV in Thailand (ดิจิตอลทีวี ในประเทศไทย) - แหล่งรวบรวมความรู้ บทความ ข้อมูล และอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับระบบดิจิตอลทีวี (Digital TV) ในประเทศไทย
Set Top Box, Digital TV - แหล่งรวบรวมอุปกรณ์ Digital TV online

Monday, May 28, 2012

ทำไมต้อง Digital TV?

Digital TV
ภาพจากอินเตอร์เน็ต
คำว่า Digital TV ได้ถูกพูดถึงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากที่ กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ) ทำการออกแผนแม่บทวิทยุโทรทัศน์ โดยมี Digital TV เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลัก คำถามหลักๆ ก็คือ Digital TV คืออะไร มีความแตกต่างอย่างไรกับ Analog TV และจะมีผลกระทบกับรูปแบบของธุรกิจทีวีอย่างไร



Digital TV คือ ทีวีที่ทำงานในรูปแบบดิจิตอล สัญญาณภาพและเสียงในรูปแบบดิจิตอลมีคุณภาพที่ดีกว่า Analog โดยภาพและเสียงมีความคมชัดกว่ามาก อีกทั้งยังมีการถูกรบกวนในอัตราที่น้อยกว่า เช่น ภาพลาย ภาพล้ม ภาพเบี้ยว ที่พบเห็นในระบบทีวีในปัจจุบัน เป็นต้น ซึ่งนอกจาก Digital TV จะมีคุณสมบัติที่ดีกว่า Analog ในด้านคุณภาพของสัญญาณแล้ว ยังถือว่าเป็นการใช้ความถี่ที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในระบบ Digital TV มีการส่งข้อมูลเป็น bit และสามารถส่งข้อมูลได้มากกว่าแบบ Analog มีการผสมคลื่นแบบ COFDM (Coded Orthogonal Frequency Division Multiplexing) โดยในหนึ่งช่องสัญญาณ จะสามารถนำส่งไปยังหลายรายการโทรทัศน์ จึงเรียกได้อีกแบบหนึ่งว่า การแพร่กระจายคลื่นแบบหลากหลายรายการ (Multicasting) ในหนึ่งช่องสัญญาณ การส่งสัญญาณเป็นแบบดิจิตอลจึงทำให้ได้คุณภาพของภาพและเสียงดีกว่าด้วย ยกตัวอย่างเช่น โทรทัศน์ระบบ HDTV โดยทั่วไป Digital Television จะใช้สัญญาณ Digital ที่ถูกบีบอัด และเข้ารหัสซึ่งอาจเป็นรูปแบบ MPEG-2 หรือ MPEG-4 ส่งผลให้ในการรับชมนั้น จำเป็นจะต้องใช้อุปกรณ์ถอดรหัส ซึ่งอาจมีมาพร้อมกับตัวเครื่องรับโทรทัศน์ เช่น โทรทัศน์รุ่นใหม่ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อรองรับระบบดิจิตอล หรือจะเป็นอุปกรณ์ถอดรหัสที่แยกกัน เช่น อุปกรณ์เครื่องรับสัญญาณที่เรียกว่า STB (Set Top Box) ซึ่งใช้ถอดรหัสสัญญาณ และป้อนให้กับเครื่องรับโทรทัศน์ Analog ที่มีใช้งานทั่วไป หากเป็นการรับชมด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (Personal Computer) จะสามารถใช้การ์ดรับสัญญาณที่สามารถถอดรหัสได้เลย สรุปก็คือ Digital TV ในหนึ่งช่องสัญญาณ จะสามารถนำมาส่งได้หลายรายการโทรทัศน์



ทำไมถึงควรเปลี่ยนจาก Analog มาสู่ Digital TV - การแพร่กระจายคลื่นแบบ Analog มีขีดจำกัดในเรื่องของการส่งสัญญาณ ซึ่งจะใช้ความกว้างช่องสัญญาณมาก ทำให้คลื่นสัญญาณถูกรบกวนได้ง่าย สัญญาณภาพมีคุณภาพต่ำ รวมไปถึงไม่สามารถประยุกต์ไปใช้งานร่วมกับสื่อผสมอื่นๆ ได้ สำหรับข้อได้เปรียบของ Digital TV มีประโยชน์ดังต่อไปนี้



1. เป็นการใช้ช่องสัญญาณอย่างมีประสิทธิภาพ จากเดิมในระบบ Analog ใช้ช่องสัญญาณหนึ่งช่องต่อหนึ่งรายการและมีการวางช่องสัญญาณคลื่นความถี่ติดกันหรือสถานีส่งใกล้เคียงกัน ทำให้ไม่สามารถใช้ช่องสัญญาณความถี่ที่อยู่ติดกันได้ แต่ในระบบ Digital สามารถใช้ช่องสัญญาณความถี่ที่ติดกัน ทำให้ใช้ช่องสัญญาณได้เต็มที่ครบทุกช่อง และสามารถออกอากาศในพื้นที่ใกล้เคียงกันได้โดยไม่รบกวนกัน และในหนึ่งช่องสัญญาณจะสามารถออกอากาศได้หลายๆ รายการไปพร้อมๆ กัน (Multi Channel) ทำให้สามารถส่งรายการได้มากขึ้นกว่าเดิม สรุปก็คือ จะทำให้มีรายการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในความเห็นของผม ผู้ประกอบการจะแข่งขันกันด้วยเนื้อหา โดยในแต่ละรายการจะมีเนื้อหาเฉพาะกลุ่ม รวมไปถึงการโฆษณาก็จะมีการมุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนดูที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น



2. Digital TV มีสัญญาณที่มีคุณภาพดีกว่าและไม่มีการรบกวนจากสภาวะแวดล้อมเหมือนใน Analog เนื่องจากในระบบ Analog มีการผสมคลื่นแบบเข้ารหัสสัญญาณที่ไม่ต่อเนื่อง สำหรับ Digital TV มีการเข้ารหัส (Encode) ถอดรหัส (Decode) และมีระบบควบคุมเพื่อชดเชยสัญญาณได้ด้วย จึงทำให้สัญญาณไม่ถูกรบกวน สัญญาณภาพมีความต่อเนื่อง และภาพที่รับได้จะมีความคมชัดมาก


3. ในระบบ Analog มีสัญญาณภาพหลายมาตรฐาน คือ PAL, NTSC, SECAM ทำให้การควบคุมคุณภาพ การตัดต่อภาพและตกแต่งภาพระหว่างมาตรฐานที่แตกต่างกันทำได้ยาก และยังทำให้คุณภาพด้อยลงเมื่อผ่านกระบวนการตัดต่อหลายๆ ครั้ง แต่ระบบ Digital นั้นมีการใช้มาตรฐานการเข้ารหัสภาพแบบเดียว คือ MPEG-2 (ปัจจุบันพัฒนามาเป็น MPEG-4) ซึ่งมีคุณสมบัติของภาพที่หลากหลาย มีกระบวนการสร้างภาพที่ซับซ้อนกว่า แต่ให้คุณภาพที่ดีมากกว่า สามารถนำไปใช้งานในสื่อผสมอื่นๆ ที่หลากหลาย และเป็นที่นิยมแพร่หลายที่สุดในขณะนี้ จึงทำให้การนำไปใช้งานได้ครอบคลุมทุกวงการในการสื่อสารเกิดเป็นมาตรฐานเดียวกัน

4. Digital TV ให้ขนาดของการมองภาพในมุมมองที่ดีขึ้น ในระบบ Analog จะมีขนาดของการมองภาพที่แคบ (758 x 578 - PAL อัตราส่วนภาพ 4:3) และมีความละเอียดภาพที่ต่ำ การแสดงผลที่จอภาพไม่มีความชัดเจน ยิ่งจอภาพมีขนาดมากขึ้นจะยิ่งให้รายละเอียดที่ต่ำกว่า ส่งผลให้การแสดงผลบนจอโทรทัศน์ที่มีหน้าจอขนาดใหญ่มากๆ ขาดความชัดเจนของภาพ ทั้งนี้ หลายๆ คนคงคุ้นเคยกับการใช้ LCD และ Plasma TV กับสัญญาณ Analog จะเห็นได้ว่าภาพขาดความชัดเจนและมีรายละเอียดที่ต่ำ แต่ระบบ Digital จะสามารถเลือกการเข้ารหัสสัญญาณภาพได้หลายขนาด (1080 x 720, 1920 x 1080 ที่อัตราส่วนภาพ 16:9) ให้ความละเอียดสูง ทำให้การแสดงผลที่จอภาพมีความคมชัดสูงแบบ HDTV (High Definition Television) มีมุมมองภาพที่กว้างมากขึ้น (Width Screen) ภาพที่ได้ดูสมจริงและมองเห็นภาพได้กว้างมากขึ้น

5. สามารถให้บริการในลักษณะ 2 ทิศทาง การแพร่คลื่นระบบ Digital สามารถทำเป็นระบบตอบสนอง รับและส่งข้อมูลระหว่างสถานีฯ กับผู้ชมรายการได้ เป็นบริการเสริมสำหรับการจัดรายการโทรทัศน์ที่ผู้รับชมสามารถเลือกข้อมูลสำหรับตอบโต้กับรายการโทรทัศน์ได้ผ่านอุปกรณ์เชื่อมโยงสัญญาณอื่นๆ ที่ติดตั้งเสริมขึ้นมา เช่น การให้บริการข้อมูลที่ส่งไปพร้อมสัญญาณภาพ (Video) ในระบบ Digital สามารถใส่รายละเอียดข้อมูลต่างๆ ไปพร้อมสัญญาณ Video เพื่อให้ผู้รับบริการเลือกเปิดดู ใช้ค้นหาข้อมูลเสริมอื่น หรือเปิดดูรายการโทรทัศน์ เป็นการให้บริการข้อมูลที่หลากหลายผ่านช่องรายการโทรทัศน์

6. การแพร่กระจายคลื่นระบบ Digital รองรับการส่งสัญญาณผ่านอุปกรณ์พกพาประเภทต่างๆ ได้ โดยผู้รับบริการสามารถรับสัญญาณภาพและเสียงด้วยโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ เคลื่อนที่ได้ทุกสถานที่และทุกเวลาที่มีสัญญาณส่งไปถึง อีกทั้งยังสามารถมีบริการเสริมเช่นเดียวกับ Data Broadcasting โดยสามารถเปิดเชื่อมข้อมูลเข้ากับเครือข่ายระบบอินเตอร์เน็ตและบริการออนไลน์ได้พร้อมๆ กับการเลือกชมรายการโทรทัศน์ ค้นหาและเชื่อมต่อข้อมูลได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านรายการโทรทัศน์ได้หลากหลาย เช่น อาจทำเป็นระบบ E-Commerce ที่มีการสั่งซื้อสินค้าผ่านรายการโทรทัศน์ได้นั่นเอง

7. Digital TV มีการบริการ Closed Captioning ซึ่งบริการนี้เกิดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือคนหูหนวกหรือผู้มีปัญหาทางการได้ยิน ไม่ให้มีอุปสรรคในการรับชมรายการ อนึ่ง คุณสมบัติ Closed captioning นี้จะคล้ายคลึงกับ Captioning ที่มีในเครื่องรับทีวีอนาล็อกชนิดสนับสนุนฟังก์ชั่น Teletext ซึ่งลักษณะของบริการ Closed captioning โดยทั่วไปจะเป็นกรอบสี่เหลี่ยมสีดําปรากฏอยู่ด้านล่างของจอภาพ ภายในแสดงข้อความที่ตัวละครกําลังพูดอยู่ในขณะนั้น

8. มีบริการ Multiview ทําให้ผู้รับชมรายการหลักสามารถเลือกดูภาพจากมุมกล้องอื่นๆ ได้นอกเหนือไปจากที่ปรากฏอยู่บนหน้าจอในเวลานั้นได้ รวมถึงการได้รับข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับรายการในขณะนั้นเพิ่มเติม ประเภทของรายการหลักที่จะได้รับประโยชน์จาก Multi-view อย่างเห็นได้ชัดก็คือ รายการกีฬา เช่น รายการแข่งขันฟุตบอล เทนนิส แข่งรถ เป็นต้น ทั้งนี้ การส่ง multi-view จะใช้ช่องสัญญาณเพิ่มเติมสําหรับส่งผ่านบริการไปยังผู้ชมปลายทาง อาทิเช่น ใช้ 1 ช่อง เป็นช่องหลักออกอากาศรายการกีฬาพร้อมๆ กับอีก 2 ช่องเพิ่มเติมเป็นบริการ Multi-view โดยช่องหนึ่งใช้ส่งข้อคิดเห็นเพิ่มเติมต่อเกมการแข่งขัน (Comments) ในขณะที่ช่องที่สองจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถิติการเล่นในเกม (Details)

สรุปก็คือ Digital Television จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมโทรทัศน์และวิทยุ ซึ่งนอกจากจะทำให้มีช่องรายการที่มากขึ้นแล้ว ภาพและเสียงก็จะมีคุณภาพสูงขึ้น ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้นในการรับชมโทรทัศน์ รายการจะแข่งขันกันด้วยคุณภาพของเนื้อหาที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคแต่ละกลุ่มได้ อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดหลักของ Digital TV ก็คือ ทุกบ้านที่รับสัญญาณจะต้องมีอุปกรณ์ในการรับมาติดตั้งเพิ่มเติม ซึ่งอุปกรณ์ในการแปลงสัญญาณยังมีราคาที่แพง (ประมาณ 30 ดอลลาร์) ทั้งนี้ รัฐบาลอาจต้องมีการกำหนดนโยบายในการให้การสนับสนุน เช่น การให้ความช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่าย ซึ่งที่ผ่านมาในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลจะแจกคูปองมูลค่า 40 เหรียญให้ประชาชนไปแลกซื้อเครื่องแปลงสัญญาณ Digital TV รัฐบาลควรผลักดันให้เกิดเป็นนโยบายหลักของชาติ ซึ่งผมค่อนข้างดีใจที่เรื่องนี้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักที่ กสทช. จัดให้อยู่ในแผนแม่บทวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙ โดยมุ่งเปลี่ยนการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ไปสู่การรับส่งสัญญาณในระบบ Digital ดังนั้น เราคงต้องคอยจับตามองว่าเมื่อไหร่จะได้เห็น Digital TV ในเมืองไทยสักที


แหล่งที่มา : สยามรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 2 ก.พ. 2555



Digital TV in Thailand (ดิจิตอลทีวี ในประเทศไทย) - แหล่งรวบรวมความรู้ บทความ ข้อมูล และอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับระบบดิจิตอลทีวี (Digital TV) ในประเทศไทย
Set Top Box, Digital TV - แหล่งรวบรวมอุปกรณ์ Digital TV online

Digital TV สื่อทางเลือก

ภาพจากอินเตอร์เน็ต
หลายสัปดาห์ที่ผ่าน มา ได้มีความสับสนเกี่ยวกับ Digital TV เนื่องจากคำว่า Digital นั้น ได้พ้องความหมายกับหลายสิ่งหลายอย่างในโลกของ Social Media

หรือกระทั่งอินเทอร์เน็ต ที่เป็นเทคโนโลยีรากฐาน จนอาจถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่วีดิโอในรูปแบบของ Social Media เช่น YouTube, Facebook ฯลฯ และอาจรวมไปถึง IPTV, Web TV ฯลฯ ที่อาศัยช่องทางของอินเทอร์เน็ต

อย่างไรก็ดี Digital TV ที่จะเริ่มต้นด้วย Digital Switchover และนำไปสู่ Analog Switch-Off กำลังจะเป็นปรากฏการณ์ระดับชาติ ที่มีความสำคัญไม่แพ้การจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับ 3G, 4G ฯลฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้น และสำคัญที่สุด จะเป็นการปฏิรูปสื่อครั้งมโหฬาร ที่จะลดความแตกต่างระหว่าง สื่อทางเลือก เช่น Social Media กับสื่อกระแสหลัก เช่น Free TV ในยุคที่เป็นการหลอมรวมสื่ออย่างแท้จริง

สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้แถลงการณ์ Digital TV เพื่อเปลี่ยนจาก Analog เข้าสู่ Digital ภายใน 5 ปี Digital TV ที่กำลังเป็นข่าวนั้น มิได้หมายถึงการเผยแพร่วีดิโอผ่านอินเทอร์เน็ตหรือ Social Media แต่กลับเป็นการเผยแพร่ Free TV เช่น ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และ ThaiPBS ซึ่งปัจจุบันใช้คลื่นความถี่ VHF และ UHF ซึ่งไม่ต้องผ่านดาวเทียม เคเบิล หรืออินเทอร์เน็ต โดยเปลี่ยนเป็นระบบ Digital แทนของเดิม ซึ่งเป็น Analog

ข้อได้เปรียบของ Digital คือ การใช้คลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จากคลื่นความถี่ที่ให้บริการ 1 ช่อง ในระบบ Analog สามารถให้บริการได้ถึง 10 ช่องในระบบ Digital ดังนั้น คลื่นความถี่สำหรับให้บริการ ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และ ThaiPBS หากเปลี่ยนเป็น Digital ทั้งหมด จะให้บริการได้ถึง 60 ช่อง จำนวนช่องที่เพิ่มขึ้นด้วยเทคโนโลยี Digital ถูกเรียกตามศัพท์เทคนิคว่า Digital Dividend

นอกจากคลื่นของ ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และ ThaiPBS ยังมีคลื่นอื่นๆ ที่ กสทช. ยังสามารถเรียกคืนจากหน่วยงานรัฐต่างๆ ตามร่างแผนบริหารคลื่นความถี่ และสามารถนำมาให้บริการ Digital TV ได้อีก ในภาพรวมแล้ว จะสามารถให้บริการ Digital TV ได้กว่า 100 ช่องในประเทศไทย Digital TV 60-100 ช่องที่จะมีขึ้นใหม่ จะถูกจัดสรรด้วยวิธีการประมูล ตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ปี 2553

อุปสรรคที่สำคัญสำหรับ Digital Switchover ตามร่างแผนแม่บทกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ โดย พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ คือ การที่ประชาชนต้องเพิ่มเติมอุปกรณ์ คือ Set-Top Box สำหรับแปลงสัญญาณ เนื่องจากโทรทัศน์ที่มีใช้งานอยู่ในปัจจุบันไม่มีระบบที่จะแปลงสัญญาณด้วย ตัวเอง ดังนั้น ในแผน Digital Switchover ของหลายประเทศ รัฐบาลได้ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายกับประชาชนในรูปแบบของ Subsidy อุปสรรคที่สำคัญอีกประการ คือ ประเทศไทยมีการให้บริการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมหรือเคเบิลเป็นกว่า 200 ช่อง ซึ่งมีการเข้าถึงเกือบทั้งประเทศอยู่แล้ว และยังมีการเผยแพร่วีดิโอผ่านอินเทอร์เน็ต หรือ Social Media ที่เริ่มมามีอิทธิพลอย่างกว้างขวางอีก Digital TV 60-100 ช่องที่จะมีขึ้นใหม่ ยังคงต้องพิสูจน์ว่าแม้จะเป็น Free TV แต่ต้องมีลักษณะจำเพาะที่เป็นคุณค่าสำหรับประชาชนทั่วไป จึงจะสามารถแข่งขันได้

อย่างไรก็ดี Analog Switch-Off กลับเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ ที่จะก่อให้เกิดการแพร่กระจายของ Digital TV อย่างทั่วถึง เพราะเป็นการกำหนดระยะเวลาที่จะไม่มี TV ในระบบ Analog อีกต่อไป โดย กสทช. ได้กำหนดให้เริ่มต้นในอีก 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ เมื่อ Analog ถูก Switch-Off โดยบริบูรณ์ ซึ่งมิได้เป็นเพียงกฎเกณฑ์ภายในประเทศ แต่ยังเป็นพันธกรณีของการเข้าร่วม ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อีกด้วย การรับชม TV ซึ่งเว้นแต่จะผ่านดาวเทียม เคเบิล และอินเทอร์เน็ต จำเป็นต้องใช้ระบบ Digital TV เท่านั้น ในยุคหลอมรวมสื่อต่อไปจึงอาจเป็นการแข่งขันอย่างเท่าเทียมระหว่างช่องทาง ต่างๆ ในการเข้าถึง TV

เมื่อเทียบกับสังคม Social Media และสื่อทางเลือกอื่นๆ Digital TV ที่จะเกิดขึ้น 60-100 ช่อง อาจมิใช่สื่อกระแสหลักอีกต่อไป จากเดิมที่มีเพียง 6 ช่อง ผู้เข้าชมในยุค Digital TV ย่อมกระจัดกระจายระหว่าง 60-100 ช่อง และมิใช่ทุกช่องที่จะมีผู้เข้าชมและรายได้จากโฆษณาทัดเทียมช่องหลักในยุค ก่อนหน้าที่มีเพียง 6 ช่อง ด้วยอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และ Social Media ที่จะสูงยิ่งขึ้นต่อไปด้วยการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับ 3G, 4G ฯลฯ ซึ่งเป็นอีกบทบาทหนึ่งของ กสทช. เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า บางช่องทางของสื่อทางเลือก อาจมีผู้เข้าชมและรายได้จากโฆษณาไม่น้อยกว่าบางช่องของ Digital TV

ในยุคหลอมรวมสื่อที่จะเกิดขึ้นต่อไป ย่อมเป็นการปฏิรูปครั้งมโหฬาร ที่จะลดความแตกต่างของการเข้าถึง TV ผ่านช่องทางต่างๆ โดยจะเป็นการปลดแอกที่ลดการผูกขาด และนำมาสู่การแข่งขันสร้าง Content ที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง




Digital TV in Thailand (ดิจิตอลทีวี ในประเทศไทย) - แหล่งรวบรวมความรู้ บทความ ข้อมูล และอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับระบบดิจิตอลทีวี (Digital TV) ในประเทศไทย
Set Top Box, Digital TV - แหล่งรวบรวมอุปกรณ์ Digital TV online

Sunday, May 27, 2012

Digital TV (ดิจิตอลทีวี) คืออะไร



Digital TV คือ ทีวีที่ทำงานในรูปแบบดิจิตอลสัญญาณภาพ และเสียงในรูปแบบของดิจิตอลมีคุณภาพที่ดีกว่า Analog โดยภาพและเสียงมีความคมชัดกว่ามาก อีกทั้งยังมีการถูกรบกวนในอัตราที่น้อยกว่า

นอกจาก Digital TV จะมีคุณสมบัติที่ดีกว่า Analog ในด้านคุณภาพของสัญญาณแล้วยังถือว่าเป็นการใช้ความถี่ที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในระบบ Digital TV มีการส่งข้อมูลเป็น bit และสามารถส่งข้อมูลได้มากกว่าแบบ Analog มีการผสมคลื่นแบบ COFDM (Coded Orthogonal Frequency Division Multiplexing) โดยในหนึ่งช่องสัญญาณจะสามารถนำส่งไปยังหลายรายการโทรทัศน์ จึงเรียกได้อีกแบบหนึ่งว่า การแพร่กระจายคลื่นแบบหลากหลายรายการ (Multicasting) ในหนึ่งช่องสัญญาณ การส่งสัญญาณเป็นแบบดิจิตอลจึงทำให้ได้คุณภาพของภาพและเสียงดีกว่าด้วย

ยกตัวอย่างเช่น โทรทัศน์ระบบ HDTV โดยทั่วไป Digital Television จะใช้สัญญาณ Digital ที่ถูกบีบอัด และเข้ารหัสซึ่งอาจเป็นรูปแบบ MPEG-2 หรือ MPEG-4 ส่งผลให้ในการรับชมนั้นจำเป็นจะต้องใช้อุปกรณ์ถอดรหัส ซึ่งอาจมีมาพร้อมกับตัวเครื่องรับโทรทัศน์ เช่น โทรทัศน์รุ่นใหม่ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อรองรับระบบดิจิตอล หรือจะเป็นอุปกรณ์ถอดรหัสที่แยกกัน เช่น อุปกรณ์เครื่องรับสัญญาณที่เรียกว่า STB (Set Top Box) ซึ่งใช้ถอดรหัสสัญญาณและป้อนให้กับเครื่องรับโทรทัศน์ Analog ที่มีใช้งานทั่วไป หากเป็นการรับชมด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (Personal Computer) จะสามารถใช้การ์ดรับสัญญาณที่สามารถถอดรหัสได้เลย สรุปก็คือ Digital TV ในหนึ่งช่องสัญญาณจะสามารถนำมาส่งได้หลายรายการโทรทัศน์




อนาลอก หรือดิจิตอล
ระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดิน (Terrestrial) ที่ให้บริการในประเทศไทย เริ่มออกอากาศเป็นครั้งแรกเป็นระบบอนาลอก (AnalogTV) เมื่อปีพ.ศ. 2498 โดย “สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวี” เป็นการส่งด้วยระบบขาวดำ M/NTSC 525 เส้น ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงจากระบบเดิม คือ ระบบ M/NTSC มาเป็นระบบทีวีสี PAL – B 625 เส้น ที่นิยมใช้กันในแถบยุโรป ด้วยความกว้างของช่องสัญญาณแต่ละช่อง (Bandwidth) เท่ากับ 6-7 MHz ทั้งนี้การส่งสัญญาณแบบอนาลอก ปัจจุบันถึงขีดจำกัดในการพัฒนาเทคนิคและคุณภาพของความคมชัดของภาพในการส่ง จึงไม่มีการพัฒนา HDTV แบบอนาลอก (High Definition TV) แต่ได้มีการพัฒนาระบบทีวีที่เป็นดิจิตอลขึ้นมาเพื่อรองรับการส่งข้อมูลภาพที่มีความละเอียดมากขึ้น โดยอาศัยอัลกอริทึม MPEG-2 หรือ MPEG-4 ที่เป็นหัวใจสำคัญในการที่จะบีบอัดสัญญาณภาพและเสียงให้มีบิตเรทที่น้อยลง และสามารถส่งแพร่ภาพเป็นลักษณะของ Digital Packets ไปยังผู้รับปลายทางได้

มีหลาย ๆ นิยามสำหรับ “ดิจิตอลทีวี” แต่โดยภาพรวมแล้วดิจิตอลทีวี เป็นระบบการรับส่งสัญญาณภาพและเสียงที่มีข้อมูลที่มีการเข้ารหัสเป็นดิจิตอล ทีมีค่า “0” กับ “1” เท่านั้น โดยมีกระบวนการต่าง ๆ ที่จะทำการแปลงสัญญาณภาพและเสียงให้เป็นดิจิตอล มีการบีบอัดข้อมูล ทำการเข้ารหัสข้อมูล ก่อนที่จะทำการมอดูเลตข้อมูลดิจิตอลเหล่านี้เพื่อส่งผ่านตัวกลางไปสู่ผู้รับปลายทางซึ่งต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับระบบทีวีอนาลอก



ระบบดิจิตอลทีวี
ระบบดิจิตอลทีวีที่คิดค้นกันขึ้นมา ปัจจุบันมีอยู่ 3 ระบบคือ ATSC ของอเมริกาเหนือ DVB ของยุโรป และ ISDB ของญี่ปุ่น ซึ่งทั้งหมดสามารถส่งสัญญาณภาพวิดีโอและเสียงออดิโอที่มีคุณภาพมากขึ้น (เช่น HDTV และ 5.1 Dolby surround) รวมทั้งข้อมูลบริการ (Data) อื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ ซึ่งทั้งหมดเป็นลักษณะของดิจิตอลจึงไม่แปลกที่ต่อไปทีวีจะสามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เนตได้ สามารถชอปปิ้ง เล่นเกมส์ออนไลน์ โหวตให้คะแนนดารา หรือทำงานในลักษณะ Interactive ต่างๆ ได้มีบริการในลักษณะของ VoD (Video on Demand) โดยมีรายการต่าง ๆ ให้เลือกชมอย่างมากมายระบบส่งสัญญาณที่เป็นดิจิตอลทีวีแสดงได้ดังในรูป ประกอบด้วยส่วนสำคัญต่างๆ ดังนี้คือ ตัว MPEG encoder ทำหน้าที่ในการบีบอัดสัญญาณภาพและเสียงเพื่อให้มีบิตเรทที่ลดลงหลายๆ เท่า (เช่น ที่ความละเอียด 720x480/576 pixels และความเร็วภาพ 30 fps (SDTV) ตัวบีบอัดสัญญาณ MPEG-2 สามารถลดบิตเรตที่ต้องใช้จาก 120-150 Mbps ให้เหลือแค่ประมาณ 49 Mbps เท่านั้น) หลังจากนั้น ตัว Packetizer ทำหน้าที่ในการแบ่งข้อมูลที่เป็น Streaming data ที่ออกมาจากตัว บีบอัดสัญญาณให้เป็น Packet ที่เรียกว่า PES (Packetized Elementary Stream) ก่อน แล้วทำการจัดแบ่งความยาวของข้อมูลให้เหมาะสมตามลักษณะการใช้งานอีกครั้งหนึ่ง กรณีที่ส่งข้อมูลไปยัง Media Storage ต่าง ๆ เช่น ฮาร์ดดิสก์ หรือแผ่นดีวีดี ที่มีสัญญาณรบกวนน้อย ข้อมูลในแต่ละ Packet ก็สามารถส่งคราวละมาก ๆ ได้ (เช่น 2 Kbytes) เรียกว่า MPEG-2 Program Stream ส่วนกรณีที่ส่งข้อมูลผ่านตัวกลางที่มีสัญญานรบกวนมากๆ เช่น การส่งออกอากาศก็จะต้องแบ่งข้อมูลให้สั้นลงเพื่อความปลอดภัยของการส่ง เราเรียกว่า MPEG-2 Transport Stream ซึ่งในแต่ละ Packet จะถูกกำหนดมีความยาวคงที่แค่ 188 ไบต์เท่านั้น

Multiplexer ทำหน้าที่ในการมัลติเพลกข้อมูล Packet ต่างๆ ที่เป็นทั้งภาพ เสียง หรือข้อมูลอื่น ๆ เข้าด้วยกันเป็น Streaming เดียว ก่อนที่จะเข้าไปทำการ Channel Coding สำหรับการเข้ารหัสเพื่อให้แต่ละ Packet โดยจะมีการเพิ่มไบต์พิเศษเข้าไป 16 ไบต์ (รวมเป็น 204 ไบต์ในแต่ละ Packet กรณีที่เป็น Transport Stream) เพื่อให้ด้านรับสามารถตรวจสอบข้อมูลว่ามีความถูกต้องหรือไม่ ทั้งยังสามารถ Recover ไบต์ที่ผิดต่าง ๆ ได้สูงสุดถึง 8 ไบต์ ในขั้นตอนสุดท้าย ตัว Modulation จะทำหน้าที่ในการมอดูเลตข้อมูลดิจิตอลในแบบต่างๆ เพื่อส่งผ่านตัวกลางไปยังผู้รับ ซึ่งอาจจะเป็น QPSK, QAM หรือ COFDM กรณีที่เป็นการส่งผ่านดาวเทียม (DVB-S) หรือสายเคเบิ้ล (DVB-C) หรือออกอากาศภาคพื้นดิน (DVB-T) ตามลำดับ ซึ่งจะได้ช่องการส่งข้อมูลดิจิตอลที่มีความเร็วบิตเรตที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ช่องสัญญาณทีวีภาคพื้นดินที่มีความกว้างแบนด์วิธ 6-7 MHzสามารถส่งข้อมูลได้เร็วถึง 19.3 Mbps ทำให้เราใส่ช่องรายการทีวีปกติปัจจุบันได้ถึง 4-5 ช่องเลยทีเดียว (เรียกลักษณะการแพร่ภาพแบบนี้ว่า Multicast) หรืออาจใส่ช่องรายการที่มีคุณภาพภาพและเสียงในระดับ HDTV เข้าไปได้เลย

สรุป
ดิจิตอลทีวี เป็นการเปลี่ยนรูปแบบของการดูทีวีในปัจจุบันมีบริการใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้ภาพเสียงชัดเจนขึ้น และมีการใช้งานช่องความถี่ได้คุ้มค่ามากขึ้น แต่แน่นอนว่าก็จะต้องมีการลงทุน ทั้งในส่วนของผู้ให้บริการเองที่จะต้องเปลี่ยนเครื่องมือในระบบการส่งสัญญาณภาพจากอนาลอกเป็นดิจิตอล และส่วนของผู้รับบริการที่จะต้องมีตัวอุปกรณ์เพิ่มเติมที่สามารถทำการถอดรหัส (Decode) สัญญาณดิจิตอลที่ส่งมาได้ เรียกว่า Converter Box หรือ Set-top Box ก่อนที่จะเป็นภาพที่แสดงได้ด้วยทีวีปัจจุบัน


Digital TV in Thailand (ดิจิตอลทีวี ในประเทศไทย) - แหล่งรวบรวมความรู้ บทความ ข้อมูล และอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับระบบดิจิตอลทีวี (Digital TV) ในประเทศไทย
Set Top Box, Digital TV - แหล่งรวบรวมอุปกรณ์ Digital TV online

กสทช. ประกาศมาตรฐาน"ทีวีดิจิตอล"ประเทศไทย

ภาพจากอินเตอร์เน็ต
24 พ.ค. 2555 พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) กล่าวว่า บอร์ด กสท.เลือกระบบของยุโรป หรือ DVB-T2 เป็นมาตรฐานระบบโทรทัศน์ดิจิตอลภาคพื้นดินของประเทศไทย (Digital Terrestrial Television : DTTV) สำหรับกิจการที่ใช้คลื่นความถี่แบบฟรีทีวี โดยมตินี้ได้เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบแล้วเมื่อ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ตาม การเลือกระบบนี้จะผูกพันเฉพาะที่ใช้คลื่นความถี่และเป็น Free to air TV เท่านั้น ไม่บังคับไปถึงโมบายทีวี เคเบิลทีวี ฯลฯ โดยกสทช. จะผลักดันให้ทีวีดิจิทัลประเภทบริการสาธารณะจะเริ่มออกอากาศในปีนี้ ซึ่งเมื่อเริ่มออกอากาศแล้วจะมีการพิจารณาเรื่องมาตรการสนับสนุนให้ประชาชน ได้มีกล่องรับสัญญาณ set-top-box เพื่อให้ดูรายการเหล่านี้ได้ โดยปัจจุบันราคาเฉลี่ยของกล่องรับสัญญาณ DVB-T2 อยู่ที่ราว 25 – 30 เหรียญสหรัฐ

ส่วน เหตุที่เลือกระบบ DVB-T2 เนื่องจากเป็นระบบที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพในการใช้คลื่นความถี่ดีที่สุดทำให้มีช่องรายการเพียงพอสำหรับ การจัดสรรให้หน่วยงานรัฐและภาคประชาชนที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีสัดส่วนสำหรับ ชุมชน 20% และยังเป็นมาตรฐานที่กลุ่มประเทศอาเซียนรับรองให้เป็นมาตรฐานรวม มีการใช้งานใน 38 ประเทศทั่วโลก ซึ่งในปัจจุบัน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า และเวียดนาม ได้ประกาศจะใช้ระบบนี้ ทำให้อุปกรณ์เครื่องรับมีราคาไม่แพงและมีแนวโน้มที่จะถูกลงเรื่อยๆ

สำหรับขั้นตอนต่อไปจะเริ่มการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ใบอนุญาตการประกอบกิจการโครงข่าย และใบอนุญาตประกอบกิจการบริการสาธารณะ ภายในสิ้นปีนี้ ส่วนการออกใบอนุญาตประกอบกิจการธุรกิจจะเริ่มในส.ค. 2555 และการออกใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนจะเริ่มใน ธ.ค. ปีหน้าเช่นกัน โดยคาดว่าไทยจะมีระบบดิจิทัลทีวีเต็มรูปแบบในปี 2558 เพื่อเริ่มต้นกระบวนการยุติการออกอากาศด้วยระบบอนาล็อกที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

แหล่งที่มา : มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค



Digital TV in Thailand (ดิจิตอลทีวี ในประเทศไทย) - แหล่งรวบรวมความรู้ บทความ ข้อมูล และอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับระบบดิจิตอลทีวี (Digital TV) ในประเทศไทย
Set Top Box, Digital TV - แหล่งรวบรวมอุปกรณ์ Digital TV online